วิทยาเขตสุรินทร์ รับการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ปีการศึกษา ๒๕๖๖

ความเป็นมาของการประกันคุณภาพการศึกษา

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ และ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓  ได้ระบุให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ปัจจุบัน สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย  แผนพัฒนา  และมาตรฐานการอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ สนับสนุนทรัพยากร ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา  โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา  โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการของสถานศึกษาระดับปริญญาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษาแต่ละแห่ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา  (ปัจจุบัน สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) จึงมีหน้าที่ร่วมกับสถานศึกษาในการจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน

ความจำเป็นของการประกันคุณภาพ

ภารกิจหลักที่มหาวิทยาลัยจะต้องปฏิบัติ มี ๔ ประการ คือ ผลิตบัณฑิต  การวิจัย  การให้บริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม  การดำเนินการตามภารกิจทั้ง ๔ ประการดังกล่าว  ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ  ทั้งระยะสั้นและระยะยาว  ปัจจุบันมีปัจจัยภายในและภายนอกหลายประการที่ทำให้การประกันคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการปัจจัยดังกล่าว คือ

๑) กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เพื่อให้สถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถจัดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา  โดยกำหนดมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานการศึกษาแต่ละระดับและประกาศกระทรวงศึกษาธิการกำหนด

๒) กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑ โดยให้ยกเลิก ประกาศกระทรวงศึกษาธิการฉบับเดิม ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๙ เพื่อเป็นกลไกกำกับมาตรฐานระดับกระทรวง ระดับคณะกรรมการการอุดมศึกษา และระดับหน่วยงาน  โดยทุกหน่วยงานระดับอุดมศึกษาจะได้ใช้เป็นกรอบการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา

๓) กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศคณะกรรการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร พ.ศ. ๒๕๖๕ ระดับอนุปริญญา ระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ โดยใช้สำหรับหลักสูตรที่จะเปิดใหม่และหลักสูตรปรับปรุงของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน

การประกันคุณภาพการศึกษา  (Quality Assurance) หมายถึง  การทำกิจกรรมหรือการปฏิบัติภารกิจหลักอย่างเป็นระบบตามแบบแผนที่กำหนดไว้  โดยมีการควบคุมคุณภาพ (Quality Control)  การตรวจสอบคุณภาพ (Quality Auditing) และการประเมินคุณภาพ (Quality Assessment) จนทำให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพ และมาตรฐานของตัวบ่งชี้วัดระบบ และกระบวนการผลิต  ผลผลิต และผลลัพธ์ของการจัดการศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษา  เป็นกระบวนการวางแผน และกระบวนการจัดการของผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาที่จะรับประกันให้สังคมเชื่อมั่นว่าจะพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ครบถ้วนตามมาตรฐานคุณภาพที่ระบุไว้ในหลักสูตร และตรงตามความมุ่งหวังของสังคม  ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เป็นระบบที่พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้ทัดเทียมกัน  ดังนั้น  ผู้ที่รับประกันคุณภาพการศึกษาโดยตรง คือ ผู้บริหารสถานศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เช่น คณะกรรมการสภาวิทยาเขต  คณะกรรมการประจำวิทยาเขต-วิทยาลัยสงฆ์ ผู้ปกครอง  ผู้แทนชุมชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับอำเภอ จังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น  ต้องมีการรับผิดชอบเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาร่วมกัน

การประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน  ระดับวิทยาเขต  หมายถึง  การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงานของวิทยาเขตในแต่ละปีการศึกษา  เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผล และหาแนวทางการพัฒนาวิทยาเขต อย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน  หมายถึง ผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ตามคุณสมบัติที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) กำหนดเพื่อทำหน้าที่ในการเข้าตรวจเยี่ยมและประเมินการดำเนินงานของส่วนงาน

ตามที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ออกประกาศ เรื่อง แนวปฏิบัติการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๖ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ นั้น  ได้กำหนดแนวทางการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ไว้ดังนี้

๑. รอบปีการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ตามผลการดำเนินงานในปีการศึกษา ๒๕๖๖ จำนวน ๑๒ เดือน ตั้งแต่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๖-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๗

๒. การประเมินระดับหลักสูตร  ประเมินทุกหลักสูตรตามองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ที่มหาวิทยาลัยกำหนด  โดยใช้วิธีประชุมตรวจประเมินในที่ตั้งที่หลักสูตรเปิดสอนหรือใช้วิธีตรวจประเมินออนไลน์ ทั้งนี้  วิทยาเขต  ดำเนินการประเมินระดับหลักสูตรเอง  โดยเลือกและแต่งตั้งผู้ประเมินที่ขึ้นทะเบียนผู้ประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ประเมินคุณภาพภายในที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น และสำนักวิชาการวิทยาเขต ดำเนินการประสานงานการตรวจประเมินระดับหลักสูตรตามระยะเวลาที่กำหนด

๓. การประเมินระดับวิทยาเขต  ตามองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยใช้วิธีประชุมตรวจประเมินในที่ตั้งเท่านั้น  ทั้งนี้  วิทยาเขต  รวบรวมผลการประเมินระดับหลักสูตร มาเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ระดับวิทยาเขต  กรอกข้อมูลรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ในระบบ MCU e-SAR ของมหาวิทยาลัย  และ CHE QA Online  ของ สป.อว. และสำนักงานประกันคุณภาพดำเนินการประสานงานการตรวจประเมินระดับส่วนงานตามระยะเวลาที่กำหนด

          กระบวนการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร

ในการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร ทั้งหลักสูตรที่ใช้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร พ.ศ. ๒๕๕๘ และหลักสูตรที่ใช้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร พ.ศ. ๒๕๖๕ ทั้งระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา

๑. ตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร ทั้งในที่ตั้งและออนไลน์ โดยใช้เวลาตรวจประเมินหลักสูตรละ ๑ วัน โดยกรรมการทุกท่านต้องอยู่ครบตามกำหนดระยะเวลาการตรวจประเมิน

๒. คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับหลักสูตร จำนวน ๓ คน ทุกคนต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนผู้ประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตร ของ สป.อว. หรือ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ประเมินคุณภาพภาในที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น  โดยอย่างน้อย ๑ คน ต้องมีคุณวุฒตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชาที่รับการประเมิน

๓. วิทยาเขต ดำเนินการตรวจประเมินคุณภาพระดับหลักสูตร ในหลักสูตรที่สังกัดวิทยาเขตเอง โดยเลือกและแต่งตั้งผู้ประเมินที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตร ของ สป.อว. หรือผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ประเมินคุณภาพภายในที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ทั้งนี้ ให้รองอธิการดีวิทยาเขต เป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง

๔. หลักสูตรกรอกข้อมูลและแนบหลักฐานลงในระบบ MCU e-SAR ของมหาวิทยาลัย และ CHE QA Online ของ สป.อว. ภายใน ๗ วัน ก่อนการตรวจประเมินของคณะกรรมการ และหลังจากการตรวจประเมินระดับหลักสูตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้หลักสูตรกรอกผลการประเมินในระบบ CHE QA Online ให้เสร็จภายใน ๗ วัน ก่อนการตรวจประเมินระดับส่วนงานต้นสังกัดของหลักสูตร

๕. คณะกรรมการส่งรายงานผลการตรวจประเมินระดับหลักสูตร ฉบับสมบูรณ์ ไปยังวิทยาเขต ภายใน ๗ วันทำการหลังการตรวจประเมิน

๖. หลักสูตรนำข้อเสนอแนะจากผลการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพ และส่งมอบให้สำนักงานประกันคุณภาพภายใน ๑ เดือน

กระบวนการตรวจประเมินคุณภาพภายใน ระดับวิทยาเขต

๑. ตรวจประเมินระดับส่วนงานในที่ตั้ง โดยใช้เวลาตรวจประเมินแห่งละ ๓ วัน โดยกรรมการต้องอยู่ครบตามระยะเวลาการตรวจประเมิน

๒. วิทยาเขต รวบรวมผลการตรวจประเมินระดับหลักสูตรมาเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ระดับวิทยาเขต พร้อมทั้งกรอกข้อมูลรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ในระบบ MCU e-SAR ของมหาวิทยาลัย และ CHE QA Online ของ สป.อว.

๓. คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับวิทยาเขต จำนวน ๕ คน ประกอบด้วย ๑) ประธานกรรมการ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกสถาบันที่ขึ้นทะเบียนผู้ประเมินคุณภาพภายในระดับสถาบัน ของ สป.อว. และ ๒) กรรมการ ๔ คน เป็นคุลากรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจประเมินคุณภพการศึกษาภายใน

๔. วิทยาเขต  เป็นผู้คัดเลือกประธานกรรมการ เสนอต่อเลขานุการคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อเสนอมหาวิทยาลัยแต่งตั้ง

๕. วิทยาเขต ส่งรายงานการประเมินตนเองระดับส่วนงาน จำนวน ๑ ชุด แก่เลขานุการคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษา และส่งให้แก่คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ก่อนวันตรวจประวัน ๗ วันทำการ

๖. การตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายในของวิทยาเขต ใช้โปรแกรมการตรวจประเมิน MCU e-SAR ที่มหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น

๗ คณะกรรมการส่งรายงานผลการตรวจประเมินวิทยาเขต ฉบับสมบูรณ์ ไปยังรองอธิการบดีวิทยาเขต ภายใน ๒ สัปดาห์หลังการตรวจประเมิน

๘. หลังการตรวจประเมินระดับวิทยาเขตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้วิทยาเขตกรอกรายงานการประเมินตนเอง และผลการตรวจประเมินในระบบ CHE QA Online ภายใน ๑๕ วันทำการ ทั้งนี้ ให้เลขานุการคณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับวิทยาเขต ตรวจสอบความถูกต้อง

ประมวลภาพการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร ทั้ง ๑๐ หลักสูตร ของวิทยาเขตสุรินทร์

ในช่วงเดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗