แผนงานตามตัวบ่งชี้ การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน

การวิเคราะห์แผนงานตามตัวบ่งชี้ และเกณฑ์มาตรฐานของการตรวจประเมินคุณภาพภายใน
จากคู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน มจร พ.ศ. ๒๕๖๗

*************

การประกันคุณภาพการศึกษา (Quality assurance)

การประกันคุณภาพการศึกษา (Quality assurance) หมายถึง การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาแต่ละระดับและประเภทการศึกษา  โดยมีกลไกในการควบคุม ตรวจสอบระบบการบริหารคุณภาพการศึกษาที่สถานศึกษาจัดขึ้น  เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสาธารณชนว่า  สถานศึกษานั้นสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา  และบรรลุเป้าประสงค์ของหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแล (กฎกระทรวง การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑)

การประกันคุณภาพภายใน (Internal Quality Assurance : IQA)  หมายถึง  การประเมินผล และการติดตาม  ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายใน  โดยบุคลากรของสถานศึกษานั้นเอง  หรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น

การประกันคุณภาพภายนอก (External Quality Assurance : EQA)  หมายถึง  การประเมินผล และการติดตาม  ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายนอก  โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรองเพื่อเป็นการประกันคุณภาพ และให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา

การตรวจประเมินคุณภาพภายใน Internal Quality Audit : IQA
การตรวจประเมินคุณภาพภายใน หมายถึง การตรวจสอบว่าการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบันมีประสิทธิภาพและได้สอดคล้องกับข้อกำหนดของระบบบริหารจัดการคุณภาพหรือไม่ มีจุดบกพร่องในเรื่องใด เพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานต่อไป การตรวจสอบนี้ ต้องดำเนินการอย่างเป็นอิสระ มีความจริงใจในการวิพากษ์วิจารณ์ให้คำแนะนำ เพื่อให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบันเป็นไปตามข้อกำหนดและทราบข้อมูลจริงในการแก้ไขข้อบกพร่องต่อไป


แผน (Plan) ทุกตัวบ่งชี้ ต้องกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการประจำปี

การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับวิทยาเขต
องค์ประกอบที่ ๑ การจัดการเรียนการสอน
ตัวบ่งชี้ ๑.๗ กิจกรรมนิสิตระดับปริญญาตรี
เกณฑ์ข้อ ๑ จัดทำแผนการจัดกิจกรรมพัฒนานิสิตในภาพรวมของวิทยาเขต โดยให้นิสิตมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและการจัดกิจกรรม
๑. แผนการจัดโครงการ/กิจกรรมพัฒนานิสิต ประจำปีการศึกษา
องค์ประกอบที่ ๒ การวิจัยและสร้างนวัตกรรม
ตัวบ่งชี้ ๒.๑ ระบบและกลไกการบริหารและพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมหรืองานสร้างสรรค์
คำอธิบายตัวบ่งชี้ สถาบันอุดมศึกษาต้องมีการบริหารจัดการงานวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพโดยมีแนวทางการดำเนินงานที่เป็นระบบและกลไกส่งเสริมสนับสนุนครบถ้วนเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งการสนับสนุนด้านการจัดหาแหล่งทุนวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ การจัดสรรทุนวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ จากงบประมาณของมหาวิทยาลัยให้กับบุคลากร
๒. แผนบริหารจัดการงานวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ
องค์ประกอบที่ ๓ การบริการวิชาการ
ตัวบ่งชี้ ๓.๑ การบริการวิชาการแก่สังคม
เกณฑ์ข้อ ๑ จัดทำแผนบริการวิชาการแก่สังคม ประจำปีที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและกำหนดตัวบ่งชี้วัดความสำเร็จในระดับแผนและโครงการบริการวิชาการแก่สังคมและเสนอกรรมการประจำวิทยาเขต เพื่อพิจารณาอนุมัติ
๓. แผนบริการวิชาการแก่สังคม และแผนการใช้ประโยชน์จากการบริการวิชาการ ประจำปีงบประมาณ
องค์ประกอบที่ ๔ การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
ตัวบ่งชี้ ๔.๑ ระบบและกลไกการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
เกณฑ์ข้อ ๒ จัดทำแผนด้านทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และกำหนดตัวบ่งชี้วัดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของแผน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผน
๔. แผนด้านทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ
องค์ประกอบที่ ๕ การบริหารจัดการ
ตัวบ่งชี้ ๕.๑ การบริหารเพื่อกำกับติดตามผลลัพธ์ตามพันธกิจ กลุ่มสถาบัน และเอกลักษณ์ของวิทยาเขต
เกณฑ์ข้อ ๑ พัฒนาแผนกลยุทธ์โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กรและผู้มีส่วนได้เสีย จากผลการวิเคราะห์ SWOT โดยเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของวิทยาเขต และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของวิทยาเขต รวมทั้งสอดคล้องกับกลุ่มสถาบันและเอกลักษณ์ของวิทยาเขต และพัฒนาไปสู่แผนกลยุทธ์ทางการเงินและแผนปฏิบัติการประจำปีตามกรอบเวลา เพื่อให้บรรลุผลตามตัวบ่งชี้และเป้าหมายของแผนกลยุทธ์และเสนอผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
๕. แผนพัฒนาวิทยาเขต ระยะที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐)
๖. แผนกลยุทธ์ทางการเงิน
๗. แผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ
เกณฑ์ข้อ ๓ ดำเนินงานตามแผนบริหารความเสี่ยง ที่เป็นผลจากการวิเคราะห์และระบุปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก หรือปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานตามพันธกิจของวิทยาเขต และให้ระดับความเสี่ยงลดลงจากเดิม
๘. แผนบริหารความเสี่ยง
เกณฑ์ข้อ ๕. ค้นหาแนวปฏิบัติที่ดีจากความรู้ทั้งที่มีอยู่ในตัวบุคคล ทักษะของผู้มีประสบการณ์ตรง และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ตามประเด็นความรู้ อย่างน้อยครอบคลุมพันธกิจด้านการจัดการเรียนการสอนและด้านการวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ จัดเก็บอย่างเป็นระบบโดยเผยแพร่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรและนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริง
๙. แผนการจัดการความรู้ (KM)
เกณฑ์ข้อ ๖ การกำกับติดตามผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารและแผนพัฒนาบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน
๑๐. แผนการบริหารบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน
๑๑. แผนพัฒนาบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน
เกณฑ์ข้อ ๗ ดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาภายในตามระบบและกลไกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพันธกิจและพัฒนาการของวิทยาเขต ที่ได้ปรับให้การดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานวิทยาเขต ตามปกติที่ประกอบด้วย การควบคุมคุณภาพ การตรวจสอบคุณภาพ และการประเมินคุณภาพ
ตัวบ่งชี้ที่ ๕.๒ ผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพหลักสูตรของวิทยาเขต
๑๒. แผนพัฒนาคุณภาพ (Improvement Plan) ระดับหลักสูตร จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ประจำปีการศึกษาที่ผ่านมา
ตัวบ่งชี้ที่ ๕.๓ ผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพของวิทยาเขต
๑๓. แผนพัฒนาคุณภาพ (Improvement Plan) ระดับวิทยาเขต จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ประจำปีการศึกษาที่ผ่านมา

สรุปแผนงานตามตัวบ่งชี้และเกณฑ์ของ IQA
๑. แผนการจัดโครงการ/กิจกรรมพัฒนานิสิต ประจำปีการศึกษา
๒. แผนบริหารจัดการงานวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์
๓. แผนบริการวิชาการและแผนการใช้ประโยชน์จากการบริการวิชาการ ประจำปีงบประมาณ
๔. แผนทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ
๕. แผนพัฒนาวิทยาเขต ระยะที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐)
๖. แผนกลยุทธ์ทางการเงิน ระยะ ๕ ปี
๗. แผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ
๘. แผนบริหารความเสี่ยง
๙. แผนการจัดการความรู้ (KM)
๑๐. แผนการบริหารบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน ระยะ ๕ ปี
๑๑. แผนพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ และสายสนับสนุน ประจำปีงบประมาณ
๑๒. แผนพัฒนาคุณภาพ (Improvement Plan) ระดับหลักสูตร จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ประจำปีการศึกษาที่ผ่านมา
๑๓. แผนพัฒนาคุณภาพ (Improvement Plan) ระดับวิทยาเขต จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ประจำปีการศึกษาที่ผ่านมา

แนวปฏิบัติในการจัดทำแผนต่าง ๆ
๑. แผนการจัดโครงการ/กิจกรรมพัฒนานิสิต ประจำปีการศึกษา
แนวปฏิบัติ
วิทยาเขตต้องส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมนิสิตต่างๆ อย่างเหมาะสมและครบถ้วน กิจกรรมนิสิต หมายถึงกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ดำเนินการทั้งโดยวิทยาเขต และโดยองค์กรนิสิต เป็นกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมจะมีโอกาสได้รับการพัฒนาสติปัญญา สังคม อารมณ์ ร่างกาย และคุณธรรมจริยธรรม โดยสอดคล้องกับคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ที่ประกอบด้วยผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา ต้องมีอย่างน้อย ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) ด้านความรู้ (๒) ด้านทักษะ (๓) ด้านจริยธรรม และ (๔) ด้านลักษณะบุคคล และคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ที่วิทยาเขต สถาบัน และสภา/องค์กรวิชาชีพได้กำหนดเพิ่มเติม ตลอดจนสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต และนำหลัก PDSA/PDCA(Plan, Do, Study/Check, Act) ไปใช้ในชีวิตประจำวันเป็นการพัฒนาคุณภาพนิสิตอย่างยั่งยืน
๒. แผนบริหารจัดการงานวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์
แนวปฏิบัติ
สถาบันอุดมศึกษาต้องมีการบริหารจัดการงานวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพโดยมีแนวทางการดำเนินงานที่เป็นระบบและมีกลไกส่งเสริมสนับสนุนครบถ้วนเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งการสนับสนุนด้านการจัดหาแหล่งทุนวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ การจัดสรรทุนวิจัยนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ จากงบประมาณของมหาวิทยาลัยให้กับบุคลากร ส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะแก่อาจารย์และนักวิจัย การสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นซึ่งรวมถึงทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรการเงิน เครื่องมือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตลอดจนจัดระบบสร้างขวัญและกำลังใจแก่นักวิจัย อย่างเหมาะสม ตลอดจนมีระบบและกลไกเพื่อช่วยในการคุ้มครองสิทธิ์ของงานวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ที่นำไปใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาปัญญาและคุณธรรม ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
๓. แผนบริการวิชาการและแผนการใช้ประโยชน์จากการบริการวิชาการ
แนวปฏิบัติ
การบริการวิชาการเป็นภารกิจหลักอีกอย่างหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา วิทยาเขตควรคำนึงถึงกระบวนการในการให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยศึกษาความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย นำมาจัดทำแผนบริการวิชาการประจำปี ทั้งการบริการวิชาการแก่สังคมที่ทำให้เกิดรายได้ และการบริการวิชาการแก่สังคมที่จัดทำเพื่อสร้างประโยชน์แก่ชุมชน โดยมีการประเมินความสำเร็จของการบริการวิชาการแก่สังคม และนำมาจัดทำเป็นแผนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนแก่นิสิตให้มีประสบการณ์จากสภาพจริงและนำมาใช้ประโยชน์จนเกิดที่ชี้นำสังคมโดยมุ่งพัฒนาจิตใจ สติปัญญา และพฤติกรรมของประชาชน เพื่อให้เกิดสันติสุขและความสามัคคีของคนในชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
๔. แผนด้านทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
แนวปฏิบัติ
วิทยาเขตต้องมีนโยบาย แผนงาน โครงสร้าง และการบริหารจัดการงานทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน เผยแพร่วัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นมุ่งสู่การพัฒนาปัญญาด้วยหลักศาสนาผสานกับหลักวิชาการของมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยปรับใช้หลักศาสนาให้เหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีเอกลักษณ์มหาวิทยาลัย คือ บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนา และมีอัตลักษณ์มหาวิทยาลัย คือ ประยุกต์พระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม

๕. แผนกลยุทธ์
แผนกลยุทธ์ หมายถึง แผนระยะยาวของสถาบันโดยทั่วไปมักใช้เวลา ๕ ปี เป็นแผนที่กำหนดทิศทางการพัฒนาของสถาบัน แผนกลยุทธ์ประกอบไปด้วยวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ วัตถุประสงค์ ผลการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและภัยคุกคาม กลยุทธ์ต่างๆ ของสถาบันควรคลอบคลุมทุกภารกิจของสถาบัน มีการกำหนดตัวบ่งชี้ความสำเร็จของแต่ละกลยุทธ์และค่าเป้าหมายของตัวบ่งชี้เพื่อวัดระดับความสำเร็จของการดำเนินงานตามกลยุทธ์ โดยสถาบันนำแผนกลยุทธ์มาจัดทำแผนดำเนินงานหรือแผนปฏิบัติการประจำปี
๑. มีการพัฒนาแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับปรัชญาหรือปณิธานและนโยบายของสภาสถาบันพระราชบัญญัติสถาบัน จุดเน้นของสถาบัน และแผนอุดมศึกษาระยะยาว รวมทั้งหลักการและมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยทำตารางวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าปรัชญาหรือปณิธานและนโยบายของสภาสถาบันและกลยุทธ์สอดคล้องกันในประเด็นใด อย่างไร หากมีประเด็นที่ไม่สอดคล้องควรพิจารณาปรับแก้ไขให้สอดคล้อง
๒. มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนกลยุทธ์ (strategy) เพื่อนำสถาบันไปสู่ความสำเร็จที่พึงประสงค์ ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ (vision) พันธกิจ (mission) เป้าประสงค์ (goal) และวัตถุประสงค์ (objective) คณะกรรมการควรวิเคราะห์จุดแข็ง (strength) จุดอ่อน (weakness) โอกาส (opportunity) และภัยคุกคาม (threat) เพื่อนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนและครอบคลุมทุกภารกิจของสถาบัน อันได้แก่ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม วิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์ที่สถาบันกำหนดควรผ่านการประชาพิจารณ์ร่วมกันจากทั้งผู้บริหาร อาจารย์และเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดการยอมรับของทุกฝ่าย อันจะนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามความมุ่งหวังของสถาบัน และได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบัน
๖. แผนกลยุทธ์ทางการเงิน
แนวปฏิบัติ
๑. แผนกลยุทธ์ทางการเงินเป็นแผนที่แสดงให้เห็นถึงแหล่งที่มาและแหล่งใช้ไปของเงินที่ต้องใช้ในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์
๒. สถาบันควรตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่ดำเนินการวิเคราะห์ทรัพยากรที่ต้องใช้ในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของสถาบัน และทำการประเมินมูลค่าของทรัพยากรที่ต้องใช้ซึ่งจะเป็นงบประมาณในการดำเนินการตามแผน และ กำหนดแหล่งที่มาของงบประมาณดังกล่าวซึ่งอาจจะเป็นงบประมาณแผ่นดิน เงินรายได้สถาบัน เงินบริจาค หรือสถาบันจะต้องจัดให้มีการระดมทุนจากแหล่งทุนต่างๆ ก่อนที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดทำงบประมาณประจำปีตามแหล่งงบประมาณนั้นๆ
๗. แผนปฏิบัติการประจำปี
แผนปฏิบัติการประจำปี หมายถึง แผนระยะสั้นที่มีระยะเวลาในการดำเนินงานภายใน ๑ ปี เป็นแผนที่ถ่ายทอดแผนกลยุทธ์ลงสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานจริงตามกลยุทธ์ ประกอบด้วย โครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการในปีนั้นๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนกลยุทธ์ ตัวบ่งชี้ความสำเร็จของโครงการหรือกิจกรรม ค่าเป้าหมายของตัวบ่งชี้เหล่านั้นรวมทั้งมีการระบุผู้รับผิดชอบหลักหรือหัวหน้าโครงการ งบประมาณในการดำเนินการรายละเอียดและทรัพยากรที่ต้องใช้ในการดำเนินโครงการที่ชัดเจน
แนวปฏิบัติ
๑. มีการจัดทำแผนที่กลยุทธ์ (Strategic map) เพื่อช่วยในการแปลงแผนกลยุทธ์ไปสู่แผนปฏิบัติการตามกระบวนการของ Balance scorecard
๒. มีการจัดทำรายงานผลการวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างแผนกลยุทธ์กับแผนปฏิบัติการประจำปีทั้ง ๔ พันธกิจ คือ ด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ การบริการทางวิชาการแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

๘. แผนบริหารความเสี่ยง
แนวปฏิบัติ
๑. จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อการบรรลุเป้าหมาย โดยต้องกำหนดมาตรการหรือแผนปฏิบัติการที่จะสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับบุคลากรในสถาบัน และดำเนินการแก้ไข ลด หรือป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
๒. สร้างมาตรการควบคุมความเสี่ยงโดยใช้เทคนิค ๔ T คือ Take การยอมรับความเสี่ยง Treat การลดหรือควบคุมความเสี่ยง Transfer การโอนหรือกระจายความเสี่ยง และTerminate การหยุดหรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เพื่อลดมูลเหตุของแต่ละโอกาสที่สถาบันจะเกิดความเสียหาย (ทั้งในรูปแบบของตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ชื่อเสียง การฟ้องร้องจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลหรือความคุ้มค่า คุณค่า)
๙. แผนการจัดการความรู้ (KM)
แนวปฏิบัติ
สืบเนื่องจากพระราชพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๑๑ กำหนดไว้ว่า ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน
ดังนั้น วิทยาเขตควรค้นหาแนวปฏิบัติที่ดีจากความรู้ทั้งที่มีอยู่ในตัวบุคคล ทักษะของผู้มีประสบการณ์ตรง และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ตามประเด็นความรู้ อย่างน้อยครอบคลุมพันธกิจกรด้านการจัดการเรียนการสอน และด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรม จัดเก็บอย่างเป็นระบบโดยเผยแพร่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร และนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริง
๑๐. แผนการบริหารบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน
การบริหารงานวิทยาเขตให้ประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ได้นั้น บุคลากรถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญยิ่งในการบริหารและนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ จึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร โดยการส่งเสริม สนับสนุนพัฒนาทุกด้าน เท่าที่กำลังความสามารถของวิทยาเขต และบุคลากรจะทำได้ จึงต้องมีการจัดทำแผนบริหารและพัฒนาบุคลากร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน และต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาแผนในทุกๆ ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
๑๑. แผนพัฒนาบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน
แนวปฏิบัติ
ข้อมูลที่ควรพิจารณาประกอบการวางแผนการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลควรครอบคลุมข้อมูลสำคัญดังต่อไปนี้
๑. ข้อมูลอัตรากำลังของบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุนในปัจจุบันรวมทั้งที่ต้องการในอนาคตอย่างน้อย ๕ ปีข้างหน้า
๒. ข้อมูลจากการสำรวจความต้องการในการอบรม (training needs) ของบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน
๓. ข้อมูลป้อนกลับของผลการปฏิบัติงานและผลการพัฒนาตามเส้นทางความก้าวหน้าของสายงานในรอบปีที่ผ่านมา
๔. ข้อมูลในการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนด้านทรัพยากรมนุษย์ว่ามีประเด็นใดบ้างที่ควรมีการวางแผน

๑๒. แผนพัฒนาคุณภาพ (Improvement Plan) ระดับหลักสูตร จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ประจำปีการศึกษาที่ผ่านมา
แนวปฏิบัติ
การจัดการเรียนการสอนเป็นพันธกิจที่สำคัญของวิทยาเขต ที่ผู้สำเร็จการศึกษาจะมีคุณภาพและผลลัพธ์การเรียนรู้ ด้านความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) จริยธรรม(Ethics) และลักษณะบุคคลตาม (Character) ที่หลักสูตรกำหนดไว้ เกิดจากการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อเสร็จสิ้นการประเมินคุณภาพภายในระดับส่วนหลักสูตรในแต่ละปีการศึกษา อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตรจะนำผลการประเมินและข้อเสนอแนะที่ได้จากกรรมการประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตรมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพระดับหลักสูตรสำหรับปีการศึกษาถัดไป โดยมีการกำหนดเป็นตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของโครงการ/กิจกรรมของแผนตามผลการประเมินและข้อเสนอแนะของกรรมการประเมินฯ จากนั้น ดำเนินการตามแผนเพื่อให้บรรลุค่าเป้าหมายตามตัวชี้วัดของแผนที่กำหนดไว้
วิทยาเขตซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของหลักสูตร มีหน้าที่ในการกำกับติดตามและส่งเสริมสนับสนุนให้หลักสูตรภายใต้การกำกับดูแลให้สามารถดำเนินการเพื่อบรรลุค่าเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาคุณภาพระดับหลักสูตรของแต่ละหลักสูตร
๑๓. แผนพัฒนาคุณภาพ (Improvement Plan) จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน
แนวปฏิบัติ
วิทยาเขตเป็นส่วนงานจัดการศึกษาที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการจัดเรียนการสอน วิจัย บริการวิชาการและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับการเป็นสถาบันอุดมศึกษา กลุ่ม ๔ กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา ความโดดเด่นและเป็นเลิศตามพันธกิจและความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเกิดจากวิทยาเขตพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานและตามพันธกิจและการบริหารจัดการให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น เมื่อเสร็จสิ้นการประเมินคุณภาพภายในระดับส่วนงานในแต่ละปีการศึกษา ผู้บริหารและบุคลากรของวิทยาเขต จะนำผลการประเมินและข้อเสนอแนะที่ได้จากกรรมการประเมินคุณภาพภายในระดับส่วนงานมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพของวิทยาเขต สำหรับปีการศึกษาถัดไป โดยมีการกำหนดเป็นตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของโครงการ/กิจกรรมของแผนตามผลการประเมินและข้อเสนอแนะของกรรมการประเมินฯ จากนั้น ดำเนินการตามแผนเพื่อให้บรรลุค่าเป้าหมายตามตัวชี้วัดของแผนที่กำหนดไว้
ผู้บริหารของวิทยาเขต มีหน้าที่ในการกำกับติดตามความสำเร็จของแผนและส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้รับผิดชอบโครงการ/กิจกรรมตามแผนพัฒนาคุณภาพสามารถดำเนินการเพื่อให้บรรลุค่าเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาคุณภาพของส่วนงาน
๑๔. แผนพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน
แนวปฏิบัติ
การสร้างระบบและกลไกการบริหารเครือข่ายที่มีคุณภาพ และมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกิจกรรมดังกล่าวกลายเป็นแบบแผนและเป็นที่ยอมรับร่วมกันของสมาชิกกลุ่มเครือข่าย นำไปสู่การปฏิบัติงานของวิทยาเขต
วิทยาเขตในฐานะส่วนงานของมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาสังกัด กลุ่ม ๔ กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา มีมิติตามพันธกิจในการนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนามาชี้นำสังคมโดยมุ่งพัฒนาจิตใจ สติปัญญาและพฤติกรรมของประชาชนเพื่อให้เกิดสันติสุขและความสามัคคีของคนในชาติและสังคมโลก
ในการดำเนินงานสถาบันจะกำหนดแผนงาน โครงการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยใช้หลักพระพุทธศาสนา จัดให้มีระบบและกลไกในการดำเนินงานระดับสถาบันและเครือข่าย มีสรุปผลการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างแนวปฏิบัติที่ดีในกานดำเนินการของสถาบันสมาชิกในเครือข่าย ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ระหว่างกัน

วิเคราะห์ข้อมูล โดย…
นายเขมกร อุส่าห์ดี นักวิชาการศึกษาชำนาญการ
กลุ่มงานวิจัยและคุณภาพการศึกษา
สำนักวิชาการวิทยาเขตสุรินทร์
www.qasurin.mcu.ac.th
๒ เมษายน ๒๕๖๘